งานซับเสียงห้อง huddle space เพื่อใช้ในการทำ video-conference
ที่มาที่ไปของงานนี้คือ ลูกค้าประสบปัญหาเสียงภายในห้องประชุมย่อย ที่มีการใช้ระบบ video-conferencing อยู่ต่อเนื่อง และมีความรู้สึกว่าเวลาทำการประชุมออนไลน์นั้น สตาฟฟังเสียงจากฝั่งปลายสาย (far-end) ได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร อีกทั้งปลายสายก็ยังฟังเสียงจากสตาฟฝั่งต้นทาง (near-end) ไม่ค่อยรู้เรื่องอีกด้วย
ลูกค้าจึงติดต่อทางร้านเซ้นส์ดีให้เข้าไปช่วยประเมิน (assess) ปัญหา และหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ซึ่งจากการที่ทางทีมงานเซ้นส์ดีได้เข้าไปตรวจสอบพบว่าปัญหาประกอบไปด้วย 2 ปัญหาเรื่องเสียงที่ไม่เกี่ยวกัน แต่เกิดจากปัญหาของสภาพอะคูสติกภายในห้องต้นทางเดียวกัน นั่นคือปัญหาเรื่องที่ห้องต้นทางนั้นมีวัสดุพื้นผิวแข็งมากเกินไป ก่อให้เกิด 2 ปัญหาในเวลาเดียวกันคือ:
1. เสียงก้องภายในห้องนั้น แทรกและรบกวนความชัดเจนของเสียงที่ส่งออกมาจาก speakerphone ซึ่งแทนที่เสียงจาก speakerphone จะวิ่งตรงเข้าสู่ผู้ฟังโดยตรง เสียงนั้นไปกระทบชิ่งพื้นผิวแข็งภายในห้องแล้ววิ่งรวมเข้าไปกับเสียงตรงจาก speakerphone แล้วค่อยไปถึงผู้ฟัง ทำให้สตาฟ (ผู้ฟัง) ที่อยู่ภายใน huddle space นั้น ได้ยินเสียงก้องแทรกเข้ามาตลอด ทำให้ได้ยินปลายสายไม่ค่อยได้ศัพท์
2. ไมโครโฟนของ speakerphone นั้นรับทั้งเสียงตรงของสตาฟผู้พูดและเสียงก้องสะท้อนจากตัวห้องในเวลาเดียวกัน ทำให้ปลายสายได้ยินทั้งเสียงพูดและเสียงก้องในเวลาเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้ปลายสายได้ยินต้นทางไม่ค่อยถนัด และกลายเป็นปัญหาในที่สุด เนื่องจากเสียงก้องนั้นคอยลดทอนความชัดเจนของเสียงพูดโต้ตอบของสตาฟฝั่งภายในห้องตลอดเวลา
จากการประเมินปัญหา จะเห็นได้ว่าต้นตอของปัญหาคือเสียงก้องภายในห้อง huddle space ซึ่งเกิดจากการที่ห้องมีพื้นผิวแข็งมากเกินไป ซึ่งทางแก้ก็คือเพิ่มปริมาณวัสดุซับเสียงให้ตัวห้องในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อลดเสียงก้องให้อยู่ในระดับที่ไม่เยอะเกินไป
ทั้งนี้เมื่อทางร้านเซ้นส์ดีได้ติดตั้งเพิ่มปริมาณวัสดุซับเสียงเข้าไปแล้ว ปัญหาเรื่องเสียงเหล่านี้ก็หมดไป