ตัวอย่างการวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบอะคูสติกของหอประชุมโรงแรม

*ภาพข้างต้นสำหรับแสดงไว้เป็นตัวอย่างของการทำ sound simulation เท่านั้น ไม่ใช่การจำลองของห้องที่อยู่ในรายงานข้างล่างนี้

รายงานนี้จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบอะคูสติกของหอประชุมโรงแรมแห่งหนึ่ง

จากแบบที่ได้รับมา ลักษณะของห้องเป็นไปตามนี้:

  1. เป็นห้องหรือโถงสำหรับการประชุม
  2. มีเวทีแบบเคลื่อนย้าย (movable stage) อยู่หน้าห้อง
  3. หลังเวทีเป็นห้อง AHU และ บันได
  4. หลังห้องมีโถงพักคอย (pre-function) และทางเดิน service
  5. เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง x ยาว = 20 ม. x 48 ม.
  6. หลังคาเมทัลชีทเอียงลาดลง ซ้อนกัน 2 ระดับโดยมีลักษณะเป็นรูปทรงจั่ว
  7. ความสูงจากพื้นห้องถึงฝ้าที่ต่ำที่สุดประมาณ 3 ม.
  8. ความสูงจากพื้นห้องถึงหลังเมทัลชีทด้านบนสุดประมาณ 8.4 ม.
  9. ใต้หลังคาเมทัลชีทเป็นฝ้า gypsum board (จากแบบไม่ชัดเจนว่าระบบฝ้าเป็นอย่างไร เช่น เรียบหมดหรือเอียงทำมุมหรือเปล่า)
  10. ไม่มีแบบงานระบบปรับอากาศและไฟฟ้าแสงสว่าง (มีผลต่อเสียงเล็ดรอดจากหลังคาลงมาได้)
  11. ผนังด้านข้างเป็นกระจกเกือบทั้งหมด (80%-90%) ของพื้นที่ผนัง
  12. พื้นที่เป็นพรมหนา

ประเด็นทางเสียงและอะคูสติกส์ที่อาจจะเกิดขึ้น และตั้งข้อสังเกตุ คือ:

 

  1. ระหว่างฝนตก ระดับ noise-floor หรือ NC curve ของห้องอาจจะสูงเกินระดับที่เหมาะสมสำหรับห้องโถงประชุมเนื่องจากเพดานเมทัลชีทหรือเปล่า?
  2. ระหว่างการใช้ห้องปกติ โดยที่ระบบต่างๆเปิดทำงานทั้งหมด ระดับ noise-floor อยู่ที่เท่าไร?
  3. หลังคาเมทัลชีทอาจส่งเสียงดังเมื่อเวลาฝนตก ผ่านช่องทางเหล่านี้:
    1. ลงมาตรงๆในแนวดิ่งจากหลังคาลงมายังพื้นห้อง
    2. อ้อมลงมาจากทางขนาบข้างของห้อง ซึ่งผ่านผนังกระจกเข้ามา
    3. อ้อมเข้ามาจากทางหลังเวที ผ่านห้อง AHU และ บันไดหนีไฟเข้ามา
    4. อ้อมเข้ามาทางโถงพักคอย (pre-function) ผ่านผนังและประตูเข้ามา
    5. รั่วเข้ามาผ่านช่องแอร์หรือมาตามท่อแอร์
    6. รั่วลงมาผ่านช่องไฟฟ้าแสงสว่างหรือรูเจาะผ่านฝ้าต่างๆ
  4. เสียงแอร์อาจจะช่วยทำการ “พราง” หรือ “masking” เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทได้ ขึ้นอยู่กับระดับ noise-floor ของห้องเวลาฝนตก เทียบกับระดับเสียง noise ของระบบแอร์
  5. ค่า RT60 ภายในห้องอยู่ที่กี่วินาที?
  6. ระบบลำโพงต้องใช้ชนิดที่มี directivity สูงหรือเปล่า หรือมีทิศทางที่สามารถโฟกัสเสียงได้อย่างดี โดยที่ไม่กระตุ้นห้อง?
แนวทางการแก้ไข:
  1. ระหว่างฝนตก ระดับ noise-floor หรือ NC curve ของห้องอาจจะสูงเกินระดับที่เหมาะสมสำหรับห้องโถงประชุมเนื่องจากเพดานเมทัลชีทหรือเปล่า?
    1. ให้ทำการปิดกั้นเสียงจากรอบด้านไม่ให้เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทรั่วเข้ามาได้จากผนังหรือจุดใดจุดหนึ่ง
  2. ระหว่างการใช้ห้องปกติ โดยที่ระบบต่างๆเปิดทำงานทั้งหมด ระดับ noise-floor อยู่ที่เท่าไร?
    1. ต้องทำการชี้ตำแหน่งของระบบต่างๆเช่น ระบบแอร์ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และ/หรือระบบอื่นๆที่ก่อให้เกิดเสียง และทำการกรุและติดตั้งฉนวนกักเก็บเสียง เพื่อลดให้ noise-floor นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด เพื่อไม่ให้รบกวนการสื่อสารภายในห้อง ทั้งนี้ยกเว้นระบบแอร์ซึ่งอาจจะช่วยในเรื่อง “พราง” (masking) เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทได้ แต่ในการติดตั้งระบบแอร์ควรจะต้องมีการคาดคะเนความดังของเสียงที่เกิดจากระบบแอร์ ซึ่งอาจจะอิงจากโครงการอื่นที่ติดตั้งระบบแอร์แบบเดียวกันนี้ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการคำนวณว่า noise-floor จริงๆนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่ที่กี่ dB และ เป้าหมาย target NC curve นั้นจะอยู่ที่กี่ dB และความดังของระบบแอร์นั้นจะพอช่วย masking เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทได้ไหม เช่น ถ้าระบบแอร์มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในระดับประมาณ 55-65 dB (broadband frequencies) นั่นหมายความว่าควรที่จะกั้นเสียงฝนตกไม่ให้ดังเข้ามาเกิน 45-55 dB (broadband frequencies) เป็นต้น
  3. หลังคาเมทัลชีทอาจส่งเสียงดังเมื่อเวลาฝนตก ผ่านช่องทางเหล่านี้:
    1. ลงมาตรงๆในแนวดิ่งจากหลังคาลงมายังพื้นห้อง
      1. พ่นฉนวนโฟมพียู (P.U. Foam) ภายใต้หลังคาเมทัลชีท เพื่อเพิ่มความหนาของเมทัลชีทซึ่งความเบาบางของเมทัลชีทคือตัวที่ทำให้เกิดเสียงดังเวลาเม็ดฝนตกลงมากระทบ
      2. ติดตั้งฝ้าประมาณ 8-10 มม. ซ้อนกัน 2 ชั้นติดกัน เพื่อกั้นเสียงผ่าน (จากแบบมีฝ้า gypsum board ชั้นเดียว)
      3. วางฉนวนกั้นเสียงจำพวกใยโพลีเอสเตอร์ (polyester) หนา 50 มม. ให้เต็มพื้นที่ ไว้เหนือฝ้า 8-10 มม. ที่ซ้อนกัน 2 ชั้น
    2. อ้อมลงมาจากทางขนาบข้างของห้อง ซึ่งผ่านผนังกระจกเข้ามา
      1. ใช้ผนังกระจกชนิด double glass ที่ใช้กั้นเสียง เพื่อไม่ให้เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทอ้อมผ่านกระจกเข้ามาทางด้านข้างของห้อง แล้วใส่สารกันชื้นระหว่างแผ่นกระจก
    3. อ้อมเข้ามาจากทางหลังเวที ผ่านห้อง AHU และ บันไดหนีไฟเข้ามา
      1. กรุผนังฝั่งหลังเวทีด้วยฉนวนกั้นเสียง เช่น ใยโพลีเอสเตอร์ (polyester) หนา 50 มม. โดยทำเป็นระบบแซนด์วิชที่ฉนวนอยู่ตรงกลางแล้วมีผนังประกบข้าง
      2. ประตูและหน้างต่างให้ใช้แบบพิเศษชนิดกั้นเสียง เพื่อไม่ให้เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทรั่วเข้ามาภายในห้องได้
    4. อ้อมเข้ามาทางโถงพักคอย (pre-function) ผ่านผนังและประตูเข้ามา
      1. ในกรณีที่ ผนังเอื้อให้ทำระบบผนังแซนด์วิชได้ (ฉนวนอยู่ตรงกลาง) กรุผนังฝั่งหลังเวทีด้วยฉนวนกั้นเสียงเช่นใยโพลีเอสเตอร์ (polyester) หนา 50 มม. โดยทำเป็นระบบแซนด์วิชที่ฉนวนอยู่ตรงกลางแล้วมีผนังประกบข้าง
      2. ในกรณีที่เป็นกระจก ให้ใช้ระบบ double glass กั้นเสียง แล้วใส่สารกันชื้นระหว่างกลาง
      3. ประตูและหน้างต่างให้ใช้แบบพิเศษชนิดกั้นเสียง 
    5. รั่วเข้ามาผ่านช่องแอร์หรือมาตามท่อแอร์
      1. ควรที่จะกรุภายในท่อแอร์เพื่อลดทอนเสียงที่จะผ่านเข้ามาทางท่อแอร์ ซึ่งนั่นจะช่วยป้องกันเสียงจากภายนอกได้ ส่วนช่องแอร์ที่อยู่ในห้องนั้นอาจจะเกิดเสียงลมได้ซึ่งอาจจะช่วยเรื่อง masking เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทได้
    6. รั่วลงมาผ่านช่องไฟฟ้าแสงสว่างหรือรูเจาะผ่านฝ้าต่างๆ
      1. ระบบไฟแสงสว่างจะต้องไม่เจาะฝ้าให้เป็นรูรั่ว เนื่องจากเสียงรบกวนจากภายนอกจะวิ่งผ่านเข้ามาได้
  4. เสียงแอร์อาจจะช่วยทำการ “พราง” หรือ “masking” เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทได้ ขึ้นอยู่กับระดับ noise-floor ของห้องเวลาฝนตก เทียบกับระดับเสียง noise ของระบบแอร์
    1. ควรที่จะกรุภายในท่อแอร์เพื่อลดทอนเสียงที่จะผ่านเข้ามาทางท่อแอร์ ซึ่งนั่นจะช่วยป้องกันเสียงจากภายนอกได้ ส่วนช่องแอร์ที่อยู่ในห้องนั้นอาจจะเกิดเสียงลมได้ซึ่งอาจจะช่วยเรื่อง masking เสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทได้ เช่น ถ้าระบบแอร์มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในระดับประมาณ 55-65 dB (broadband frequencies) นั่นหมายความว่าควรที่จะกั้นเสียงฝนตกไม่ให้ดังเข้ามาเกิน 45-55 dB (broadband frequencies) เป็นต้น นั่นก็จะทำให้ได้ค่าเป้าหมาย (target value) ที่ควรจะเป็นนั่นเอง
  5. ค่า RT60 ภายในห้องอยู่ที่กี่วินาที?
    1. เนื่องจากผนังเป็นกระจก (หรือ double glass ตามแนะนำ) นั่นอาจจะทำให้ค่า RT60 นั้นสูงพอสมควร จึงควรต้องมีการทำการจำลองห้องในซอฟแวร์ จึงจะทำให้คาดคะเนได้ว่าระบบลำโพงที่จะใช้นั้นควรจะเป็นแบบใด ซึ่งนี้จะเป็นตัวช่วยในเรื่องของอะคูสติกส์ให้ได้ตรงตามจุดประสงค์ของห้อง นั่นก็คือการประชุมผ่านการสื่อสารที่ชัดเจนนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าเสียงฝนตกกระทบเมทัลชีทนั้นอาจะป้องกันได้ 50% แต่ด้วยระบบเสียงที่ถูกประเภทก็จะช่วยให้ปัญหาทางด้านอะคูสติกส์นั้นกลายเป็นเรื่องรองได้
  6. ระบบลำโพงต้องใช้ชนิดที่มี directivity สูงหรือเปล่า หรือมีทิศทางที่สามารถโฟกัสเสียงได้อย่างดี โดยที่ไม่กระตุ้นห้อง?
    1. ด้วยขนาด ปริมาตร (ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตร) และลักษณะของห้อง สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ระบบลำโพงไลน์อาเรย์ (line array) และไม่ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ลำโพงแบบ point source

 

บทความอื่นๆ

Blog

งานซับเสียงโถงนั่งเล่นบ้านคุณเค

งานนี้ลูกค้า – คุณเค ต้องการที่จะลดเสียงก้องภายในโถงนั่งเล่นของครอบครัวลงด้วยความที่คุณเคมีความคุ้นเคยกับสภาพอะคูสติกของห้องอยู่อาศัยที่ประเทศญี่ปุ่นพอสมควร เนื่องจากเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ช่วงเวลานึง ซึ่งโดยมากห้องของบ้านเรือนที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีพื้นผิวส่วนที่เป็นผิวแข็งน้อย และประกอบไปด้วยพื้นผิวนิ่ม เช่น เสื่อทาทา…

Read More »
Blog

งานซับเสียงห้องทำงาน บริษัท i-secure

หลังจากที่ทางทีมงานเซ้นส์ดีได้ทำการแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงก้องให้กับห้องประชุม huddle space ที่มีการใช้ระบบ video-conference ไปแล้ว ทางร้านเซ้นส์ดีก็ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า i-secure ให้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเสียงก้องในห้องทำงานของผู้บริหารต่อเนื่องไปด้วยเลย เนื่องจากทางผู้บริหารก็มีการใช้งานระบบ video-conferencing อยู่ตลอด

Read More »